หน้าแรก เที่ยวไทย เชียงราย เที่ยว “เชียงราย แต้ แต้” ทริป 2 วัน 1 คืน ชมวัฒนธรรมชาวเขา สัมผัสกลิ่นไอสวรรค์บนดอย

เที่ยว “เชียงราย แต้ แต้” ทริป 2 วัน 1 คืน ชมวัฒนธรรมชาวเขา สัมผัสกลิ่นไอสวรรค์บนดอย

เที่ยว “เชียงราย แต้ แต้” สุขทุกวัย สนุกทุกไลฟ์สไตล์ ทริป 2 วัน 1 คืน ชมประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชาวเขาสัมผัสกลิ่นไอสวรรค์บนดอย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ จัดทริปตัวอย่างท่องเที่ยววัฒนธรรมชมวิถีชุมชน สัมผัสเสน่ห์สวรรค์บนยอดดอย และเอกลักษณ์ที่แตกต่างของชนเผ่า เพื่อประสบการณ์ใหม่ๆตลอด 2 วัน 1 คืน ชวนทุกครอบครัวท่องเที่ยวจ.เชียงราย ภายใต้โครงการ “เชียงราย แต้ แต้” สุขทุกวัย สนุกทุกไลฟ์สไตล์ ตามแนวคิด “Chiang R A I” โดยใช้ตัวอักษร R A และ I สื่อความหมายว่า R คือ Relax เที่ยวชิลชิล A คือ Art เที่ยวอาร์ตๆ ชมงานศิลปะของศิลปินมากความสามารถทั้งงานสถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ล้ำค่าของจังหวัด และ I คือ Inspiration การสร้างแรงบันดาลใจผ่านแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้ทั้งปีเที่ยวได้ทุกวัย

เริ่มจากการเดินทางออกจากสนามบินแม่ฟ้าหลวงจ.เชียงราย แวะรับประทานอาหารเที่ยงเพื่อสัมผัสบรรยากาศเที่ยวชิลชิลชมธรรมชาติที่ ร้าน ๗พยางค์ ที่ของพ่อ น้ำพริกของแม่ ร้านอาหารเหนือ สวนผักปลูกเอง นำมาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร ให้ลูกค้าได้ทานกันแบบสดใหม่อร่อยรสดีตำหรับอาหารเหนือ แล้วเดินทางไปที่อำเภอเชียงของ เพื่อเช็คอินเข้าสู่บ้านพักโฮมสเตย์แนวอนุรักษ์ธรรมชาติ ลันเจียลอดจ์ (LANJIA LODGE) ที่แปลว่าเย็น สดชื่น ตั้งอยู่ใจกลางธรรมชาติสวยงามเงียบสงบที่ก่อสร้างมานานกว่า 10 ปี ตั้งอยู่ในโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว บ้านกิ่วกาญจน์ หมู่บ้านของ 2 ชนเผ่าม้งและลาหู่ ซึ่งมีการสำรวจลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนชาวบ้านนานถึง 3 ปีก่อนที่จะมีการก่อสร้าง ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนว่าเป็นโครงการที่มีส่วนร่วมพัฒนาเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยใช้สถาปนิกมาดูแลเรื่องการออกแบบก่อสร้างและให้ชาวบ้านมาช่วยสร้าง มีบ้านพักทั้งหมด 4 หลัง นอกจากการมาพักผ่อนที่นี่ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อรับรองนักท่องเที่ยวศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่า ฯ ชาวบ้านในพื้นที่มีหน้าที่เป็นทั้งพนักงานต้อนรับ แม่ครัว หมอผี ไกด์เดินป่า คนขับรถสองแถว สาธิตการทำผ้าบาติก รวมทั้ง ชาวเผ่านักแสดงที่มาร้องเล่นเต้นและโชว์เครื่องดนตรีของเผ่า ถือเป็นการสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนในหมู่บ้าน

นักท่องเที่ยวที่มาพัก 90% เป็นยุโรป อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และ 10% เป็นเกาหลี ญี่ปุ่น สิงค์โปร ออสเตเลีย ส่วนคนไทยยังนับเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่ในระยะหลังๆเริ่มมีคนไทยเข้าพักที่เกิดจากกระแสบล็อกเกอร์ และการรีวิวที่พักผ่านสื่อโซเซียล ทำให้คนไทยรุ่นใหม่ๆอยากที่จะสัมผัสความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงๆ ส่วนใหญ่ชอบศึกษา

วัฒนธรรมวิถีชีวิตชนเผ่าและประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เห็นวัฒนธรรมความเชื่อของชาวเขา ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ปลูกสวนยางพารา สวนส้ม สวนเงาะ สวนลิ้นจี่ ฯ  ชาวบ้านที่นี่จะพูดได้ 3 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาม้ง และภาษาลาหู่ แต่จะใช้ภาษาหลักคือภาษาม้ง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง มีชาวลาหู่เป็นส่วนน้อย เวลาต้องการสื่อสารอะไรผู้ใหญ่บ้านจะประกาศเป็นภาษาม้ง ทำให้ชาวบ้านต้องเรียนรู้ภาษาไปด้วยกัน

การท่องเที่ยวในหมู่บ้านถ้าได้ยินคำว่า “อาโบอิจา” หมายถึง คำทักทายสวัสดีของชาวลาหู่ ส่วนภาษาม้งจะพูดว่า “ยอยง” กิจกรรมที่ ลันเจีย ลอดจ์ ดำเนินการร่วมกับชุมชนคือ การพานักท่องเที่ยวชมหมู่บ้าน ซึ่งจะมีไกด์ชายชื่อ “พาน-ประพันธ์ นพวัชรวงค์” อายุ 57 ปี และไกด์หญิงชื่อ “จู้-นารีรัตน์ แซ่วือ” อายุ 27 ปีทั้งสองคนเป็นชาวเผ่าม้ง นำนักท่องเที่ยวออกกำลังขาเดินขึ้นลงเขาชมวิถีชีวิตชนเผ่า เยี่ยมชมบ้านหมอผีทั้ง 2 ชนเผ่าม้งและลาหู่ ซึ่งหน้าที่คล้ายๆกันคือ หมอผีเผ่าลาหู่ จะเป็นผู้เรียกขวัญเด็กแรกเกิดและตั้งชื่อให้ และร่วมทำพิธีในงานบุญต่างๆ เพื่อเกิดความเป็นสิริมงคล หากมีการเจ็บป่วย(ที่เกิดจากการกระทำของผี)ก็จะมาหาหมอผีให้ทำพิธีรักษา แต่ถ้ารู้ว่าอาการเจ็บป่วยเกิดจากโรคภัยต่างๆก็จะไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันแทน หมอผีเผ่าม้ง เช่นกันจะรักษาคนที่ป่วยจากการกระทำของผี แต่การคัดเลือกทายาทของหมอผีทั้ง 2 เผ่าจะต่างกันคือ หมอผีเผ่าลาหู่จะสืบทอดทางสายเลือดเท่านั้น ส่วนหมอผีเผ่าม้ง จะถูกเลือกโดยผีฟ้า ไม่จำเป็นต้องสืบทอดกันทางสายเลือด

ต่อมาก็คือการเวิร์คชอปทำผ้าบาติก เป็นกิจกรรมเขียนเทียนบนผืนผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นศิลปะภูมิปัญญาของชาวม้งเขียวหญิงสาวจะใส่กระโปรง สาธิตเล่าถึงขั้นตอนและอธิบายการใช้อุปกรณ์ต่างๆในการวาดลวดลายเฉพาะของม้ง เมื่อเขียนเทียนวาดลวดลายเสร็จจึงนำไปย้อมสีและละลายเทียนออก ได้ลวดลายสีขาวบนผ้าพื้นสีน้ำเงินสวยงาม หากต้องการได้ผืนผ้าชิ้นใหญ่เป็นจำนวนมาก สามารถใช้อุปกรณ์แม่พิมพ์ ปั้มลวดลายต่างๆ ทำให้ผลิตผ้าได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเย็บปักถักร้อยของชาวม้งขาว ผู้หญิงจะใส่กางเกง ซึ่งเราสามารถแยกความแตกต่างระหว่างม้งขาว และม้งเขียวได้จากการแต่งกายนั่นเอง

เมื่อพระอาทิตย์ตกเขายามเย็น เราสามารถรับประทานอาหารเย็นพื้นเมืองพร้อมดื่มด่ำธรรมชาติกันอย่างชิลๆ พร้อมชมการแสดงทางวัฒนธรรมจาก 2 ชนเผ่าที่ปกตินิยมแสดงเฉพาะช่วงวันปีใหม่หรือวันสำคัญต่างๆเท่านั้น อาทิ การเป่าเครื่องดนตรีที่เรียกว่า แคน และ เต้ง เครื่องดนตรีชนเผ่าที่ให้เสียงไพเราะประกอบกับลีลาการเต้น ฟ้อนที่น่าประทับใจก่อนเข้าห้องกางมุ่งนอนซึมซับบรรยากาศธรรมชาติบนดอยที่ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ

ในยามเช้าวันใหม่ หลังอาหารเช้าสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดมุ่งหน้าเดินทางสู่ อ.เชียงแสน ไปเที่ยวอาร์ตๆชมงานศิลปะและสถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ ไหว้พระเสริมศิริมงคลกันที่ วัดพระธาตุผาเงา พระธาตุสำคัญของหมู่บ้านสบคำ มีจุดแวะชม 3 จุดหลักคือบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ซึ่งสร้างครอบเจดีย์โบราณ อีกทั้งบนนี้ ยังเป็นจุดชมวิวสามแผ่นดินที่งดงามอย่างมาก ชมวิวไหว้พระแล้วไปต่อที่จุดที่ 2 ไฮไลท์คือพระอุโบสถไม้สักทองที่ภายในแกะสลักเรื่องราวพุทธประวัติอย่างสวยงาม และจุดล่างสุดที่อยู่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของก้อนหินใหญ่อันเป็นที่มาของชื่อวัดพระธาตุผาเงา หินก้อนนี้มีรูปทรงสูงใหญ่ เมื่อแสงแดดสาดส่องมาจะเกิดเงาขนาดใหญ่ และได้มีการสร้างพระธาตุไว้ด้านบนก้อนหิน ส่วนวิหารที่อยู่ด้านข้างนั้นเป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อผาเงา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และมีความศักดิสิทธิ์ ซึ่งถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2519 มีอายุระหว่าง 700-1,300 ปี

ห่างออกมาไม่ไกลนักยังมีสถานที่ท่องเที่ยวย้อนอดีตที่ เมืองโบราณเชียงแสน ด้วยการนั่งรถรางชมเมืองโบราณศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา เชียงแสนเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือเดิมชื่อเวียงหิรัญนครเงินยาง

ปัจจุบันมีซากกำแพงเมืองโบราณ 2 ชั้น มีโบราณสถานหลายแห่งปรากฏอยู่ทั้งในและนอกตัวเมือง ภายในเขตกำแพงเมืองเก่ามีวัดร้างและโบราณสถานที่สร้างในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-21 ในอดีตเมืองเชียงแสนเคยถูกน้ำท่วมหนักและมีดินตะกอนทับถม ชาวบ้านไม่ทราบว่ามีซากวัดเก่าอยู่จึงมาสร้างบ้านเรือนปัจจุบัน จึงเห็นภาพซากโบราณสถานอยู่ติดกับบ้านเรือน เป็นเมืองที่ซ้อนทับกันเป็นร่องรอยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน แหล่งรวมวัฒนธรรมโบราณ และจุดกำเนิดของอาณาจักรล้านนา แห่งพญาเม็งราย นั่นเอง

เมื่อมาถึงเมืองเชียงแสนควรแวะมาไหว้พระขอพร หลวงพ่อเชียงแสน สิงห์1 ประดิษฐานเป็นองค์ประธานแห่ง วัดพระธาตุเจดีย์หลวง มีพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน องค์เจดีย์สูง 88 เมตร  ฐานกว้าง 24 เมตร ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกระดูกหน้าอก ถือได้ว่าเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงแสน

เดินทางต่อไป อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปิดทริปแบบชิลชิล จิบกาแฟแลหน้าผา กันที่ ร้านกาแฟโอโซนผาหมี ดอยผาหมี เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ใหญ่และมีชื่อเสียงอันดับต้นของประเทศไทย เครื่องยอดนิยมอีกอย่างคือ น้ำเสาวรสคั้นสดๆ ร้านนี้ตกแต่งด้วยข้าวโพดดิบห้อยประดับร้าน พร้อมกับพริกแห้งสีสันสดใส มีหลากหลายมุมให้เลือกนั่งได้ชื่นชมบรรยากาศสุดชิล ส่วนอาหารแต่ละเมนูก็ที่โดดเด่นไม่เหมือนที่อื่นอาทิ อาข่าสิบสองปันนา, ไก่ดำ, ปลานึ่งสิบสองปันนา, น้ำพริกถั่วดิน-น้ำพริกอาข่า, ยำผักสมุนไพร, อาข่าสะเบีย, ข้าวปุ๊กงาดำ, ตำอะลู, ซุปผักเลื่อน ฯ ล้วนเป็นอาหารชนเผ่าอาข่าที่มาแล้วอยากให้ลอง อร่อยถูกปากแน่นอน เพราะมาถึงในยามเที่ยงลูกค้าแน่ร้านจนต้องยืนรอ แถมยังเป็นร้านที่อนุรักษ์ธรรมชาติคืองดการใช้ถ้วย จาน ใส่อาหาร แต่นำวัสดุธรรมชาติเช่น กระบอกไม้ไผ่และใบตองมาใช้แทน ส่วนการทำความสะอาดจะไม่ใช้สารเคมีหรือน้ำยางล้างจาน จะใช้การต้มน้ำร้อนลวกและร่มควันฆ่าเชื้อแทน

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะมาเที่ยวที่เชียงรายแต้แต้ สามารถสอบถามรายละเอียดที่กิน ที่พัก ได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงราย โทร.0-5374-4674 พร้อมแอดไลน์ @tatchiangrai แล้วกดรับคูปองจากโรงแรมที่พักที่ร่วมรายการ เช่น The Riverie by Katathani, Le Patta Hotel, บ้านกิ่วกาญจน์, ดอยสะโง้, สวรรค์บนดิน ฟาร์ม แอนด์ โฮมสเตย์, บ้านหล่อโย และอื่นๆ อีกมากมาย แถมยังมีส่วนลดอาหารเครื่องดื่มและกิจกรรมสนุกๆ หมดเขต 30 กันยายน 2562 นี้เท่านั้น